คัดลอกมาค่ะ เพราะอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย เลยอยากเอามาแบ่งกันอ่าน ต้องขอขอบคุณผู้เขียนมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ที่มา > > http://jusci.net/node/1645
หลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวขนาด 8.9-9.0 ตามมาตราริกเตอร์ (Sendai Earthquake) ตามด้วยคลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 11 มีนาคม 2011 หลายฝ่ายต่างพุ่งความตระหนกไปที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายโรงที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว
จนเมื่อเวลาประมาณ 15:36 น. ของวันที่ 12 มีนาคม 2011 ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น มีรายงานว่าเกิดเสียงระเบิดที่บริเวณเตาปฏิกรณ์ที่ 1 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาโรงที่ 1 (Fukushima Daiichi Plant) ตามมาด้วยภาพฝุ่นควันพวยพุ่งและกำแพงที่ถล่มลงมาทั้งด้าน ประกอบกับข่าวรายงานการตรวจพบกัมมันตรังสีและสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลทำให้ทั่วโลกวิตกกังวลว่าฟุกุชิมาจะเป็น Chernobyl รอบสองหรือไม่
เรื่องนี้มีหลายประเด็นที่ต้องพูดกัน
อย่างแรก คือ เรื่องการระเบิดที่เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม
แทบจะในทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ได้สั่งหยุดเครื่องเตาปฏิกรณ์ของทั้งสองโรงไฟฟ้าในฟุกุชิมาทุกเตา ซึ่งเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เนื่องจากเป็นจุดที่ใกล้กับศูนย์กลางของแผ่นดินไหวมากเกินกว่าจะเสี่ยงเดินเครื่องต่อไปได้ (เรื่องการสั่งหยุดเครื่องอย่างไรนี่ ผมยังไม่แน่ใจนัก อาจจะเป็นมนุษย์ควบคุมหรือเป็นระบบอัตโนมัติเมื่อเกิดอุบัติภัยก็ได้)
การหยุดเครื่องเตาปฏิกรณ์ที่เป็นแบบ boiling water reactor (BWR) นั้นทำได้โดยการจุ่มแท่งควบคุม (control rod) ลงไปในเตาปฏิกรณ์ แท่งควบคุมนี้จะทำหน้าที่กันไม่ให้นิวตรอนจากแท่งเชื้อเพลิงแท่งหนึ่งวิ่งไปชนแท่งเชื้อเพลิงอีกแท่ง เป็นการลดอัตราการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ เมื่อดันแท่งควบคุมลงไปเต็มที่ นิวตรอนที่วิ่งไปวิ่งมาระหว่างแท่งเชื้อเพลิงก็จะถูกดูดซับไว้แทบทั้งหมด
ปัญหาที่ตามมาจากการหยุดเครื่องเตาปฏิกรณ์ คือ ความร้อนที่สะสมในเตาปฏิกรณ์ เนื่องจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ในแท่งเชื้อเพลิงยังไม่หยุดสนิทเสียทีเดียว เพราะในแต่ละแท่งยังมีนิวตรอนพอที่จะทำให้นิวเคลียสของยูเรเนียมหรือธาตุเชื้อเพลิงอื่นๆ สลายตัวไปได้อีกระยะ (เมื่อสับสวิตช์หยุดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ แท่งเชื้อเพลิงจะยังผลิตความร้อนออกมาประมาณ 6% ของความร้อนที่ผลิตได้ขณะเดินเครื่องเต็มที่) ในขณะทำงาน เตาปฏิกรณ์ระบบ BWR จะมีปั๊มน้ำดึงน้ำเย็นเข้ามาหล่อเลี้ยงแท่งเชื้อเพลิงตลอดเวลา (ไอน้ำที่เกิดจากการระเหยของน้ำหล่อเย็นในเตาปฏิกรณ์ก็จะถูกส่งผ่านท่อมาใช้ปั่นกังหันเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้านั้นเอง -- ดูภาพประกอบได้จาก Infographic ของ Live Science ท้ายข่าว) ดังนั้นเมื่อสั่งเครื่องหยุดทำงานในสถานการณ์ธรรมดา เครื่องปั๊มน้ำก็จะยังต้องปั๊มน้ำเย็นเข้ามาระบายความร้อนอย่างต่อเนื่องจนกว่าปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันจะหยุดและแกนแท่งเชื้อเพลิงจะเย็นลง
แต่ในกรณีที่ฟุกุชิมานั้น มันคือสิ่งที่เรียกว่า "Station Blackout" จัดเป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่น่ากลัวที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พอเครื่องปั่นไฟฟ้าหลักของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หยุดทำงาน แทนที่ระบบปั๊มน้ำพลังงานสำรองจะใช้งานได้ตามปกติ Aftershocks จากแผ่นดินไหวและสึนามิดันไปสร้างความเสียหายแก่ระบบไฟฟ้าสำรองและระบบควบคุมปั๊มน้ำ เตาปฏิกรณ์จึงขาดน้ำเย็นเข้าไปหล่อเลี้ยง ทำให้เกิดความร้อนสะสมเกินระดับที่กำหนด ความร้อนสะสมนี้ทำให้น้ำที่อยู่ในเตาปฏิกรณ์ระเหยเป็นไอ ซึ่งถ้าหากปล่อยไปเรื่อยๆ ไอน้ำกับความร้อนจะทำให้แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลาย หรือไม่ก็อีกกรณี ความดันภายในจะพุ่งสูงจนอัดให้เตาปฏิกรณ์ระเบิด "ตู้มมมมมมม!" (ความเป็นไปได้ในกรณีหลังน้อยกว่ากรณีแรกมาก เพราะมาตรการรักษาความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นมีเกณฑ์อยู่ในระดับชั้นนำของโลก ประกอบกับการออกแบบโครงสร้างซึ่งใส่ใจเรื่องความปลอดภัยมาแล้วตั้งแต่ต้น แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญหลายท่านจะเคยคัดค้านการออกแบบของเตาปฏิกรณ์ Mark 1 ก็ตาม)
TEPCO แก้ปัญหานี้โดยเอาเครื่องปั๊มดีเซลมาปั๊มน้ำเข้าไปแทนชั่วคราวจนกว่าปฏิกิริยาทั้งหมดจะดับลง แต่ด้วยไม่รู้สาเหตุอะไร เครื่องปั๊มดีเซลทำงานได้เพียงประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น เลยต้องพึ่งพลังงานสำรองจากแบตเตอรี่ซึ่งก็ซื้อเวลาได้อีกเพียงไม่กี่ชั่วโมง
แต่ว่าเครื่องปั๊มน้ำไม่สามารถแก้ปัญหาความดันที่เกิดจากไอน้ำในเตาปฏิกรณ์ได้ เมื่อหมดปัญญากับการพึ่งเครื่องปั๊มน้ำอย่างเดียวแล้ว TEPCO จึงดึงแผนสำรองที่สองออกมาใช้ นั่นคือการเปิดวาล์วปล่อยไอน้ำบางส่วนออกมาจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อลดความดันในเตา ไอน้ำเหล่านี้มีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีอยู่เล็กน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากไอโซโทปของไนโตรเจน-16 ซึ่งนี่เองเป็นสาเหตุว่าทำไมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ก่อนการระเบิด จึงมีรายงานข่าวว่าพบปริมาณกัมมันตรังสีรอบๆ เตาปฏิกรณ์สูงกว่าระดับปกติถึง 1,000 เท่า นักวิทยาศาสตร์และทาง TEPCO ยืนยันว่าไอโซโทปเหล่านี้มีอายุสั้น ดังนั้นมันจะไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
- Update 14-03-2011 15:53
ที่ต้องใช้เครื่องปั๊มน้ำกันยุ่งยากขนาดนี้ เพราะห้องควบคุมสวิตช์ปั๊มน้ำของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมาอยู่ชั้นใต้ดิน พอสึนามิซัดเข้ามา ห้องควบคุมสวิตช์เลยโดนน้ำท่วมใช้การไม่ได้ แถมยังหน้าปัดวัดระดับน้ำในเตาปฏิกรณ์ยังดูเหมือนจะรายงานค่าระดับน้ำผิดพลาดด้วย (สาเหตุยังอยู่ในระหว่างการสืบสวน) ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องค่อยๆ เปิดวาล์วระบายความดันพร้อมกับปั๊มน้ำเย็นเข้าไปเพิ่มเป็นระยะๆ - ที่มา New York Times
ทุกอย่างดูดี แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะสิ่งที่ออกมาพร้อมๆ กับไอน้ำ คือ ตัวการของการระเบิดที่เป่าหลังคาอาคารเตาปฏิกรณ์ซะจนกระจุย
ไฮโดรเจน นั่นเอง
ไฮโดรเจนมาจากไหน? และเกี่ยวอะไรด้วย?
โดยคร่าวๆ แท่งเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์ปรมาณูแบบ BWR คือ ยูเรเนียมหุ้มด้วยโลหะ zirconium หลอมเป็นแท่งทรงกระบอก ซึ่งถ้าจุ่มอยู่ในน้ำเหลวๆ ตามปกติอย่างที่มันควรเป็นก็จะไม่มีปัญหาอย่างใด แต่ในกรณีของเมื่อวานนั้น คาดการณ์กันว่าน้ำในเตาปฏิกรณ์คงระเหยไปเป็นไอมากจนทำให้แท่งเชื้อเพลิงบางส่วนโผล่ขึ้นพ้นระดับน้ำ ประกอบกับอุณหภูมิที่สูงมากเกิน 1,500 องศาเซลเซียส ทำให้ zirconium ที่หุ้มแท่งเชื้อเพลิงทำปฏิกิริยากับไอน้ำอย่างรวดเร็ว เกิดเป็น zirconium oxide (จะเรียกว่าเป็นสนิมของ zirconium ก็ได้) และไฮโดรเจน
ไฮโดรเจนเป็นก๊าซที่ติดไฟในอากาศที่มีออกซิเจนได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ตอนที่มันยังอยู่ในเตาปฏิกรณ์ มันก็ไม่มีปัญหาอะไรมากหรอก เพราะในเตาปฏิกรณ์ไม่มีออกซิเจนมากพอจะทำให้เกิดการติดไฟได้ แต่เมื่อ TEPCO เปิดวาล์วปล่อยไอน้ำออกมาเท่านั้นแหละ ไฮโดรเจนซึ่งเป็นก๊าซที่เบากว่าไอน้ำก็ออกมาด้วย (จริงๆ ต้องพูดว่ามันวิ่งนำหน้าออกมาด้วยซ้ำ)
พนักงานในโรงไฟฟ้าก็คงคาดไม่ถึงด้วยว่าจะมีไฮโดรเจนออกมามากขนาดจนจุดระเบิดได้ จึงไม่ได้เตรียมการป้องกัน เมื่อไฮโดรเจนที่สะสมจนพอเหมาะเจอกับออกซิเจนในอากาศและประกายไฟอีกเล็กน้อย เราก็ได้ภาพอย่างที่เห็นกัน "ระเบิดขนาดย่อมๆ" นั่นเอง
From BBC News
จากการรายงานของ TEPCO และทางการญี่ปุ่น การระเบิดที่เกิดจากก๊าซไฮโดรเจนกระทบเพียงโครงสร้างอาคารและกำแพงที่เป็นปูนซีเมนต์เท่านั้น ส่วนโลหะที่ครอบเตาปฏิกรณ์ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด แม้ภาพที่ออกมาจะดูรุนแรงไปสักหน่อยก็ตาม (แค่กำแพงหายไปหนึ่งแถบเอง) แท่งเชื้อเพลิงยังคงสบายดีอยู่ในเตาปฏิกรณ์ ไม่มีหลุดออกมาวิ่งเล่นข้างนอก
- UPDATE 16-03-2011 12.:50
การเกิดเพลิงไหม้ที่เตาปฏิกรณ์ที่ 4 ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมาโรงที่ 1 ในวันที่ 15 มีนาคม 2011 แตกต่างจากการระเบิดที่เตาที่ 1, 2 และ 3 เพราะอุบัติเหตุของทั้งสามเตาที่ผ่านมาเกิดจากไฮโดรเจน แต่อันที่เกิดกับเตาที่ 4 นั้นเกิดจากปัญหาระดับน้ำหล่อเย็นในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว
อย่างที่สอง คือ ความกังวลเกี่ยวกับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ยังร้อนจัดอยู่ในเตาปฏิกรณ์
นอกจากในช่วงเวลาก่อนและหลังระเบิดจะมีการตรวจพบกัมมันตรังสีรั่วออกมาแล้ว ยังมีของแถมอีกอย่าง นั่นคือ ไอโซโทปกัมมันตรังสีของ cesium ซึ่งตัวนี้แหละที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับนักวิทยาศาสตร์พอสมควร
กรณีของ cesium นี้มีนัยยะอันตรายกว่าการระเบิดของก๊าซไฮโดรเจนด้วยซ้ำ เนื่องจากมันเป็นสัญญาณว่ามีอะไรผิดปกติกับแท่งเชื้อเพลิงแล้ว cesium และไอโซโทปธาตุกัมมันตรังสีอื่นๆ เช่น ไอโอดีน คือสิ่งที่เรียกว่า fission fragment ซึ่งได้จากการสลายตัวของปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ตามปกติมันควรจะถูกกักอยู่ในแท่งเชื้อเพลิง การที่พบ cesium หลุดออกมาอยู่ข้างนอกเตาปฏิกรณ์จึงสามารถแปลผลได้ว่าครอบแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์เกิดการรั่วแล้ว นักวิทยาศาสตร์คาดกันว่าน่าจะเป็นเพราะแท่งเชื้อเพลิงโผล่พ้นน้ำนานเกินไป จนทำให้ zirconium ที่หุ้มแท่งอยู่ทำปฏิกิริยากับไอน้ำแล้วหลุดลอกออกไปบางส่วน ตอนนี้ทาง TEPCO ยังไม่เผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้
แม้ TEPCO จะไม่บอกอะไรมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญก็คาดกันว่าแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ที่ 1 และ 3 ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมาโรงที่ 1 หลอมละลายไปแล้วบางส่วนเป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะในช่วงที่ระบบเครื่องปั๊มน้ำใช้การไม่ได้ไปพักใหญ่ๆ เป็นไปได้ว่าส่วนบนของแท่งเชื้อเพลิงอาจจะพ้นน้ำนานเป็นเวลาระดับชั่วโมงๆ
แม้ว่า "การหลอมละลายบางส่วน" (partial melting) จะเป็นเหตุการณ์ที่มีระดับความรุนแรงต่ำกว่าการที่แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายเต็มที่ (full meltdown) แบบเทียบกันแทบไม่ได้ก็ตาม แต่มันก็ส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในระดับที่ตรวจจับได้ ซึ่งสร้างความตระหนกให้กับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง อย่างที่ปรากฏในวันต่อมาก็มีรายงานการตรวจพบสารกัมมันตรังสีในจุดที่ห่างจากโรงไฟฟ้าถึงกว่า 60 ไมล์ สารกัมมันตรังสีที่ตรวจเจอน่าจะเป็น cesium-137, iodine-121 และไอโซโทปอื่นๆ ที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันซึ่งน่าจะหลุดออกมาพร้อมกับการปล่อยไอน้ำเพื่อลดความดันในเตาปฏิกรณ์
แผนรับมือขั้นสุดท้ายที่ TEPCO กำลังงัดออกมาใช้ คือ การปั๊มน้ำทะเลผสม boric acid เข้าไปให้ท่วมภายในเตาปฏิกรณ์ที่ 1 ตามทฤษฎีแล้ว boron ใน boric acid จะเข้าไปจับนิวตรอนเพื่อหยุดปฏิกิริยาลูกโซ่ของนิวเคลียร์ฟิชชันในแท่งเชื้อเพลิง น้ำทะเลจะเข้าไปทำให้แกนแท่งเย็นลงและกัดกร่อนจนแท่งเชื้อเพลิงใช้งานไม่ได้อีกต่อไป พูดกันง่ายๆ คือ ปิดกิจการเตาที่ 1 ถาวรไปเลย
- Update 14-03-2011 15:53
ตอนนี้ TEPCO กำลังปั๊มน้ำทะเลเข้าเตาปฏิกรณ์ที่ 1 และ 3 ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมาโรงที่ 1 แล้ว (มีการระเบิดที่เตาที่ 3 เมื่อวันอาทิตย์ หนึ่งวันหลังจากการะเบิดที่เตาที่ 1) ยังไม่มีใครทราบได้ว่าปฏิบัติการจะกินเวลานานเท่าไร และจะมีสารกัมมันตรังสีรั่วออกมามากเท่าไร (ทางเลือกนี้ถือว่าเป็น ทางเลือกสุดท้ายจริงๆ เพราะมีความเสี่ยงที่จะพลาดทำสารกัมมันตรังสีรั่วไหลเข้าสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่าทางอื่นๆ) - ที่มาNew York Times
เป็นไปได้ว่า TEPCO อาจจะตัดสินใจปิดเตาปฏิกรณ์อันอื่นในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมาโรงที่ 1 ทิ้งไปพร้อมกันทั้งโรงด้วย เนื่องจากโรงไฟฟ้านี้ก็เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1971 และก็ใกล้จะเข้าสู่วาระเกษียณเต็มทีอยู่แล้ว
อย่างที่สาม คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมามีโอกาสดำเนินรอยตามรุ่นพี่อย่างที่ Chernobyl และ Three Mile Island หรือไม่
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าความกังวลที่ฟุกุชิมาตอนนี้ในแบบที่เลวร้ายสุดๆ (Worst case scenario) คือ "การหลอมละลาย" (Meltdown) ของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นภาวะที่แตกต่างจากสาเหตุการระเบิดที่ Chernobyl ปี 1986 (อันนั้นเกิดจากความดันไอน้ำสะสมจนแท่งกราไฟต์ในเตาปฏิกรณ์ระเบิด ส่งธาตุกัมมันตรังสีข้างในพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโดยรอบมากมาย -- ซึ่งฟุกุชิมาไม่ได้ใช้แท่งกราไฟต์แบบที่ว่า) และโรงไฟฟ้าฟุกุชิมาก็ได้รับการออกแบบให้มีความปลอดภัยสูงกว่าที่ Chernobyl อยู่มากโข
การหลอมละลาย (Meltdown) ของแท่งเชื้อเพลิงเกิดจากการที่แท่งเชื้อเพลิงมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นจนเกินขีดจำกัด โลหะที่ครอบแท่งเชื้อเพลิงอยู่จะระเบิดแตกออกไป สารกัมมันตรังสีที่เป็น fission fragments ทั้งหลายก็จะหลุดลอยออกสู่อากาศ ส่วนเชื้อเพลิงข้างในจะค่อยๆ หลอมเหลวและไหลหลุดออกมาจากแท่ง เชื้อเพลิงหลอมเหลวพวกนี้บางส่วนจะติดไฟ บางส่วนจะไหลลงก้นถังเตาปฎิกรณ์และหลอมจนตัวถังทะลุ และถ้าเชื้อเพลิงเหล่านี้ยังไม่หมดความบ้าพลังซึ่งอาจจะร้อนได้ถึงหลักพันองศาเซลเซียส มันก็จะหลอมโลหะที่ครอบเตาด้วย ทำให้เกิดการรั่วไหลของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ไปสู่สิ่งแวดล้อม คล้ายๆ กับที่เกิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ Three Mile Island ปี 1979
ปัจจุบัน ทางการญี่ปุ่นจัดให้เหตุการณ์ในฟุกุชิมาอยู่ในระดับ 4 หรือระดับ "อุบัติเหตุที่กระทบพื้นที่ระดับท้องถิ่น" ตามเกณฑ์ระดับอุบัติเหตุนิวเคลียร์ของ International Nuclear and Radiological Event Scale ซึ่งมีระดับตั้งแต่ 1-7 นับจากต่ำสุดไปสูงสุด เหตุการณ์ที่ Three Mile Island อยู่ในระดับ 5 ส่วน Chernobyl ครองแชมป์หายนะตลอดกาลด้วยระดับสูงสุด 7
หลังจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน มีการอพยพผู้คนรอบรัศมี 20 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งไปแล้วประมาณ 200,000 คน บางส่วนในนี้มีความเสี่ยงที่จะได้รับกัมมันตรังสีด้วย ซึ่งทางศูนย์อพยพก็ได้มีการสแกนตรวจสอบและแจกจ่าย จักษุธาตุ เอ๊ย ไอโอดีนให้กับประชาชนที่มีความเสี่ยงทุกคน เพื่อบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ระบบอวัยวะภายใน (อ่านความเห็นจากคุณ pawinpawin และ kittipat ได้จากความเห็นด้านล่าง)
ตอนนี้ทุกอย่างยังอยู่ในสภาวะที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด แม้ว่าอุบัติเหตุในระดับ Chernobyl นั้นจะมีความเป็นไปได้น้อย แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ (ความเป็นไปได้ที่มากกว่าคือเหตุการณ์อย่าง Three Mile Island ซึ่งก็ยังมีโอกาสน้อยอยู่ดี เพราะแผนการรับมือของ TEPCO เรียกได้ว่า "อยู่ในขั้นที่ดีมากๆ") อย่าลืมว่าตอนนี้ TEPCO และรัฐบาลญี่ปุ่นมีเตาปฏิกรณ์ให้จัดการพร้อมกันถึง 6 เตา ความผิดพลาดแม้เพียงนิดเดียวอาจนำไปสู่หายนะได้ทุกวินาที
ที่มา - New Scientist, BBC News, Live Science, Scientific American, New York Times, The Register
ขอปิดด้วย infographic สวยๆ จาก Live Science อีกครั้ง
Source:LiveScience
ป.ล. ข่าวนี้ยังไม่สมบูรณ์ อาจจะมีการเพิ่มเติมรายละเอียดได้ทุกเมื่อหากมีข้อมูลเปิดเผยออกมามากขึ้น จุดที่น่าสงสัยบางอย่างอาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ หรือปีๆ ในการหาคำอธิบาย
Submitted by mementototem on Sun, 13/03/2011 - 18:31.
นอกจาก Chernobyl ขอ Three Mile Island ด้วยก็ดีครับ อีกอย่างคือ ไอโอดีนจะกำจัด หรือช่วยบรรเทาพิษจากกัมมันตภาพรังสีได้เหรอครับ? ดูมันง่ายแบบไม่น่าเชื่อเลยแฮะ
Submitted by terminus on Sun, 13/03/2011 - 19:19.
ผมคิดว่าเค้าแจกไอโอดีน เพื่อกันไม่ให้ต่อม thyroid ดูดซึมไอโซโทปของไอโอดีนที่มีกันมันตภาพรังสีเข้าไปครับ เพราะถ้าไม่กันไว้ก่อน thyroid จะเก็บไอโอดีนกัมมันตรังสีไว้ ซึ่งน่าจะส่งผลเสียหนักและรักษายากสุด
http://hps.org/publicinformation/ate/faqs/ki.html
รู้สึกเหมือนมันจะช่วยแค่ป้องกันได้ในกรณีที่เป็นไอโอดีนกัมมันตรังสีเท่านั้น ส่วนตัวอื่นๆ ไม่เกี่ยว
Submitted by pawinpawin on Sun, 13/03/2011 - 19:19.
Iodine หรือ Potassium Iodide ที่แจกจะไปจับตัวในต่อมไธรอยด์ ป้องกันไม่ให้ต่อมไธรอยด์ทำการจับ Iodine ที่เป็นกัมมันตรังสีครับ เหมือนไปนั่งจองที่ไม่ให้พวก Iodine รังสีมีที่นั่งน่ะแหละ
แต่ก็เป็นเฉพาะต่อมไธรอยด์ และเฉพาะกับ Iodine ไม่ป้องกันที่อื่นของร่างกาย และไม่ป้องกันสารรังสีอื่นที่ออกมาด้วยอย่าง Cs
Submitted by pawinpawin on Sun, 13/03/2011 - 19:22.
อีกนิด ส่วนมากถ้าจะเป็นมะเร็งไธรอยด์จริง ก็มักเป็นชนิด Papillary ที่ไม่ได้รุนแรงมากเท่าไหร่ครับ (Survival Rate ใน Early Disease ใกล้เคียงกับคนปกติมาก หรือง่ายๆ คือตายจากมะเร็งอันนี้น้อยมาก) ส่วนมากมาด้วยก้อนที่คอ และทำการผ่าตัดออกได้ครับ
Submitted by kittipat on Sun, 13/03/2011 - 19:28.
ที่อ่านมาคือสารกรรมภาพรังสีที่จะมีออกมาคือไอโอดีนนี่แหละครับ แต่เป็นไอโซโทปกัมภาพรังสี การกินไอโอดีนธรรมดาไว้ล่วงหน้าจะป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซับไอโอดีนเข้าไปเพิ่ม ทำให้ไม่ตกค้างในร่างกายครับ ส่วนรังสีที่โดนทางผิวหนังนี่กันไม่ได้ครับ แต่ถ้าโดนไม่นานและความเข้มข้นไม่ถึง ก็ไม่อันตรายมากครับ