Monday, July 27, 2009

มารยาทในการแต่งกายที่พึงประสงค์

                                                                                                                           มีนาคม  ๒๕๕๐

การแต่งกายเป็นมารยาททั่ว ๆ ไปซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติเหมือนกันตามแต่โอกาสที่เหมาะสม เช่น แต่งกายไปทำงาน,ไปวัดทำบุญ,ไปเล่นกีฬา และงานพิธีต่าง ๆ หรือการแต่งกายที่อยู่ในเครื่องแบบของนักเรียน นักศึกษา ทหาร ตำรวจ บริษัทห้างร้านที่กำหนดให้พนักงานแต่งกาย เป็นต้น หากบุคคลใดสามารถปฏิบัติได้ตามกฎระเบียบที่กำหนดถือว่าเป็นผู้มีมารยาทในการแต่งกายที่ดี

เครื่องแต่งกายเป็นสิ่งแรกที่สะดุดตาผู้ที่พบเห็น ถ้าแต่งกายเหมาะสมก็จะก่อให้เกิดความประทับใจในทางที่ดี หากแต่งตัวไม่เหมาะสมผู้อื่นก็จะมองเราในลักษณะที่ไม่สู้ดีนัก แม้จะเป็นความจริงว่าคนเลวอาจซ่อนร่างอยู่ในเครื่องแต่งกายที่เรียบร้อยสวยงามก็ได้ แต่ถ้าคนดีมีความรู้ความสามารถนั้นหากแต่งกายไม่เหมาะสม คนที่พบเห็นครั้งแรกอาจไม่เกิดความนิยม เลื่อมใส และเป็นการปิดโอกาสของตนเองที่จะได้แสดงความดีและความสามารถ ดั้งนั้น การแต่งกายจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก หลักสำคัญเกี่ยวกับการแต่งกาย คือ แต่งกายสะอาด แต่งกายสุภาพเรียบร้อย และแต่งกายถูกต้องตามกาลเทศะ

การแต่งกายสะอาด ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความสะอาดในที่นี้ไม่เกี่ยวกับ ความเก่าความใหม่ เพราะเครื่องแต่งกายที่ใหม่อาจสกปรกก็ได้ และเครื่องแต่งกายที่เก่ามีรอยปะชุนก็อาจดูสะอาดได้ หรือเครื่องแต่งกายราคาแพงก็อาจดูสกปรกได้ แต่เครื่องแต่งกายราคาถูกก็ดูสะอาดได้ ดังนั้น คนฐานะที่ไม่ดีนักก็สามารถแต่งตัวสะอาดได้เท่ากับคนฐานะดี โดยเสื้อผ้าที่เราสวมใส่อยู่นั้นก็ควรซักรีดให้เรียบร้อย รองเท้าก็ขัดให้ดูพองาม กระเป๋าก็เช็ดถูให้ดูสะอาดเหล่านี้ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่จะทำหรือไม่เท่านั้น อนึ่งการอาบน้ำชำระกายให้สะอาด และการดูแลเล็บมือ เล็บเท้ามิให้สกปรก ก็เป็นสิ่งที่ควรดูแลรักษาทำความสะอาดด้วย

การแต่งกายสุภาพเรียบร้อย การแต่งกายควรแต่งให้เรียบร้อยพอควร เพราะ คนแต่ละคนหรือสังคมแต่ละแห่ง อาจมีเกณฑ์วัดความสุภาพเรียบร้อยต่างกันออกไป แต่ถ้าใช้สามัญสำนึกสักหน่อย ก็จะพอรู้ว่าในสังคมไทยแต่งกายอย่างไรจึงจะถือว่าแต่งกายเรียบร้อย  และอย่างไรถือว่าไม่เรียบร้อย เช่น การใส่เสื้อกล้ามไปร้านอาหาร  การแต่งกายโดยเปิดเผยให้เห็นส่วนของร่างกายที่ควรสงวน หรือใส่เสื้อผ้ารัดแน่นจนน่าเกลียด หรือสวมกระโปรง กางเกงที่สั้นมาก ๆ เพื่อต้องการแสดงและเน้นสรีระของร่างกาย โดยเฉพาะการแต่งกายดังกล่าวข้างต้นไปในสถานที่ควรแก่การสักการะบูชา เช่น ศาสนสถาน วัด  โบสถ์ หรือสถานที่ราชการ สถานศึกษา ฯลฯ ซึ่งถือว่าไม่สุภาพเรียบร้อย

การแต่งกายถูกต้องตามกาลเทศะ การแต่งกายนอกจากจะสะอาดและมีความสุภาพเรียบร้อยแล้ว ควรให้เหมาะสมกับสมัยนิยมและให้เหมาะกับสถานที่ที่จะไปด้วย การแต่งกายที่ผิดสมัยนิยมนั้นหากสะอาดและสุภาพเรียบร้อยก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหายมาก แต่คนอาจมองว่าเชยเท่านั้น ดังนั้นการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ จึงควรระวังแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ ดังนี้                                                

1) ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับงานที่จะไป เช่น ไม่แต่งชุดดำไปงานแต่งงาน ไม่แต่งสีฉูดฉาดไปงานศพ เป็นต้น

2) แต่งกายให้เกียรติเจ้าภาพของงานตามสมควร เช่น ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูงจะแต่งลำลองอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าไปงานแต่งงานที่จัดหรูหราเป็นพิธีรีตรอง จะสวมใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ไปคงไม่เหมาะสม เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติเจ้าภาพ แต่ถ้าเรามีเงินน้อย ไม่มีชุดสากลหรือชุดพระราชทาน จะใส่กางเกงและเสื้อธรรมดาไปก็ได้ ข้อสำคัญคือต้องสะอาดและสุภาพเรียบร้อย

3) การแต่งกายอย่างหนึ่งอาจเหมาะสมกับที่หนึ่ง แต่ไม่เหมาะสมกับอีกที่หนึ่ง เช่น ใส่ชุดว่ายน้ำอยู่ที่ชายหาดหรือริมสระว่ายน้ำ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเดินไปในที่ห่างจากชาดหาดและสระมาก ๆ ก็ดูไม่เหมาะสม หรือการสวมรองเท้าแตะที่บ้าน หรือเดินเล่นนอกบ้านก็ไม่เป็นไร แต่จะใส่ไปโรงเรียนหรือไปทำงานบางอย่างก็ถือว่าเป็นการไม่เหมาะสม เป็นต้น

4) ความสะอาดและความสุภาพเรียบร้อยสำคัญที่สุด เพราะคนเรานั้นต่างจิตต่างใจกัน คนหนึ่งว่าเหมาะอีกคนว่าไม่เหมาะ ดังนั้นถ้ามีปัญหาก็ให้ยึดหลักความสะอาดและสุภาพไว้ก่อน ซึ่งใช้ได้ทุกกรณี อันที่จริงการแต่งกายสะอาดและสุภาพแล้วก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องอื่นจนเกินไป


ดังนั้น มารยาทการแต่งกายที่พึงประสงค์ จึงไม่ได้หมายถึง การแต่งกายตามแฟชั่น แต่เป็นการแต่งกายที่จะต้องคำนึงถึงความสุภาพเรียบร้อย สะอาด ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า เมื่อมีผู้พบเห็นจะรู้สึกทันทีว่าผู้ที่แต่งกายดีถูกต้องตามกาลเทศะ คือ คนที่ควรได้รับการชมเชย จากสังคมและผู้ปฏิสัมพันธ์ด้วย ในมุมกลับกันหากแต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อย ก็จะเกิดคำตำหนิ ติเตียน จากผู้ที่พบเห็น ทำให้เสื่อมเสียทั้งตนเอง สถานบันครอบครัว และสถานศึกษา ดังตัวอย่างการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมดั่งที่เป็นข่าว จึงขอฝากข้อควรคำนึงถึงการแสดงมารยาทที่พึงประสงค์ต่อสถานที่อันควรเคารพสักการะ ได้แก่ แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ถอดหมวก ถอดรองเท้า ลดร่มลง ไม่แสดงอาการเหยียดหยามหรือพูดคำหยาบ ไม่ส่งเสียงเอะอะอื้ออึง และทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ไม่กล่าวคำทำนองว่าไม่เชื่อหรือไม่ศรัทธาต่อสถานศักดิ์สิทธิ์นั้น ทำใจเป็นกลาง ไม่คิดแต่จะจับผิด เนื่องจากถือว่าเป็นสถานที่ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาที่ตนนับถือ ปฏิบัติตามธรรมเนียมที่เขาปฏิบัติกัน ยกเว้นธรรมเนียมนั้นจะขัดกับศรัทธาของตนหรือขัดกับหลักคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ คำนึงอยู่เสมอว่าสถานศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาใด ศาสนิกชนในศาสนานั้นก็เคารพสักการะ อย่าแสดงอะไรที่เป็นการทำลายน้ำใจกัน

เอกสารอ้างอิง  หนังสือพระพุทธศาสนา โดย ศ.ดร.วิทย์ วิศทเวทย์ และรศ.เสฐิยรพงษ์  วรรณปก

....................................................................

กฤษณา พันธุ์มวานิช
            กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ                       

 

 

ที่มา > > http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2550&MM=3&DD=3